Green Logistics สำคัญอย่างไร?

 

ในปัจจุบัน กระแสการทำธุรกิจแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก  ไม่ว่าจะด้วยสภาพแวดล้อมที่บังคับ (ทรัพยากรที่หมดไป และกระแสสังคมจากผู้บริโภค) ทำให้หลายธุรกิจเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจการแบบ Eco-friendly ยิ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งแล้ว ยิ่งควรให้ความสนใจต่อผลกระทบของมลพิษที่เกิดจากการขนส่งต่อธรรมชาติ   อีกทั้งความต้องการทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจสำหรับองค์กรที่ต้องการพัฒนาเพื่อลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของห่วงโซ่อุปทาน และเพื่อพัฒนากลยุทธ์การขนส่งและห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน การปรับโครงสร้าง กระบวนการ และวิธีการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นความท้าทายขององค์กรในภาคโลจิสติกส์เลยทีเดียว

 

Green Logistics คืออะไรและมีแนวทางการดำเนินการอย่างไรบ้าง?

 

โลจิสติกส์สีเขียวคือการบริหารจัดการกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายสินค้า วัตถุดิบ และข้อมูลสารสนเทศตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางของโซ่อุปทานทั้งในทิศทางเดินหน้าและทิศทางย้อนกลับ วัตถุประสงค์หลักคือการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมโลจิสติกส์ทั้งหมด เช่นการเคลื่อนย้ายสินค้า การรวบรวม การจัดเก็บ การกระจายสินค้า และการใช้บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ การนำแนวคิด Green มีส่วนช่วยลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพได้อีกด้วย

 

ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลายประเทศกำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ การบริหารจะต้องเป็นไปในทางที่เข้าข่ายกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และการแข่งขันที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งธุรกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้เกิดความพึงพอใจภายใต้การดำเนินงานที่มีต้นทุนรวมต่ำจึงมีความได้เปรียบ ดังนั้น การดำเนินธุรกิจภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และการนำเอาวิธีการจัดการซัพพลายเชนมาประยุกต์ใช้ สามารถช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้

 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติที่เริ่มมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานของผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และผู้บริโภค ทุกกิจกรรมในซัพพลายเชนที่ส่งผลกระทบต่อ สังคมและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การบริโภค และการจัดการของเสียด้านการบริหารจัดการเกี่ยวกับกรีนโลจิสติกส์ ที่ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในทุกกิจกรรมตลอดกระบวนการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิด “กรีนโลจิสติกส์” ด้วยเช่นเดียวกัน

 

 

แนวทางการปฏิบัติ (Best Practices) ของ Green Logistics สามารถแบ่งได้เป็น 6 แนวทาง ได้แก่

1. การเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (Model Shift)

คือการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากรูปแบบที่มีการปลดปล่อยมลภาวะสูง เช่น การขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุก ไปสู่รูปแบบการขนส่งสินค้าที่ปลดปล่อยมลพิษน้อยกว่า เช่นการขนส่งทางรางด้วยรถไฟ

2. การขนส่งสินค้าร่วมกัน (Joint Transportation)

คือการปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า (Load efficiency) โดยการรวบรวมสินค้าจากผู้ประกอบการโลจิสติกส์หลายรายเข้าด้วยกัน เพื่อให้ลดพื้นที่ว่างในการขนส่งสินค้าในแต่ละคราว รวมทั้งลดการขนส่งเที่ยวเปล่าและการบรรทุกสินค้าให้เต็มรถ (Backhaul & Full Truck Load) แต่ก็ต้องไม่เกินพิกัดน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด เพราะการที่รถบรรทุกน้ำหนักเกินพื้นถนนรองรับได้ ก็ถือเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

3. การรวมและการจัดวางตำแหน่งที่ตั้งของคลังสินค้าหรือศูนย์กระจายสินค้า (Unification and Relocation of Cargo Bases)

คือการจัดวางตำแหน่งที่ตั้งของคลังสินค้าหรือศูนย์กระจายสินค้า เพื่อลดระยะทางในการขนส่งและรอสินค้าของผู้ซื้อหรือผู้สั่งออเดอร์ทั้งหมด (Lead Time) และลดระยะเวลาการขนส่งสินค้า (Delivery Time) ซึ่งจะทำให้การปลดปล่อยมลพิษจากการขนส่งสินค้าลดลงตามระยะเวลาที่ขนส่งด้วย ทั้งนี้ รวมถึงการรวบรวมสินค้าจากผู้ประกอบการหลายรายที่ไม่มีจุดพักสินค้า แล้วจัดเส้นทางเพื่อขนส่งสินค้าร่วมกันด้วย

4. เทคโนโลยี

คือการใช้เทคโนโลยีในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO, emission) และมลพิษ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้ยานพาหนะ ที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ยานพาหนะไฟฟ้า การใช้อุปกรณ์ดักจับ มลพิษจากท่อไอเสีย การใช้เครื่องวัดความเร็ว (tachometer) เพื่อตรวจสอบ การให้บริการของยานพาหนะ Eco-Wrapping เน้นการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้บรรจุภัณฑ์จากกระดาษรีไซเคิล และปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากกระดาษมาเป็นพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

5. โครงสร้างพื้นฐาน

คือการสร้างและการดูแลบำรุงรักษา ฟื้นฟูสภาพโครงสร้าง พื้นฐานคมนาคมขนส่ง เช่น ถนน สถานีขนส่งสินค้า สถานีรถไฟ ท่าเรือ สนามบิน สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อทำให้การขนส่งสินค้าในภาพรวมเป็นได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ซึ่งในอนาคตจะมีส่วนในการรับส่งข้อมูลที่ใช้ดำเนินการในกิจกรรมขนส่งสินค้าด้วย

6.นโยบายภาครัฐ การสร้างความร่วมมีอระหว่างประเทศ

คือการออกนโยบายและการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศระหว่างภาครัฐของประเทศต่างๆ เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษในภาคการขนส่ง ทั้งการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสาร

 

 

ทั้งนี้ แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการ Green Logistics สามารถทำได้หลายมุมมอง ไม่ว่าจะกับการบริการ กระบวนการ ลูกค้า กระบวนการควบคุมและการวัด เทคโนโลยี พนักงาน และซัพพลายเออร์ โดยสามารถทำได้ ดังนี้

    • บรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ
    • การปรับเส้นทางขนส่งให้เหมาะสม
    • การสร้างเครือข่ายองค์กรที่เชื่อมต่อกันด้วยบริการโลจิสติกส์
    • เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการโลจิสติกส์โดยใช้เทคโนโลยี

 

โดย Green Logistics ที่เห็นมีลงมือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานจนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ได้แก่

    1. Eco-drive เป็นการสร้างจิตสำนึกในการขับขี่ของพนักงานขับรถบรรทุก เพื่อลดสภาวะการใช้น้ำมันสิ้นเปลือง และการดูแลเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ปล่อยไอเสียรบกวนสิ่งแวดล้อม
    2. Full Truck Load เป็นการจัดการใช้ประโยชน์จากการใช้เชื้อเพลิงให้ได้อรรถประโยชน์สูงสุด ด้วยการลดการขนส่งเที่ยวเปล่าและการบรรทุกสินค้าให้เต็มรถ โดยไม่เกินพิกัดน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด เพราะการที่รถบรรทุกน้ำหนักเกินพื้นถนนรองรับได้  ก็ถือเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
    3. Eco-Packaging เป็นการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และหรือนำกลับมารีไซเคิลในกระบวนการผลิตได้ใหม่

 

สำหรับกระแสของ Green Logistics ถือเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับในการบริหารระบบโลจิสติกส์ไปสู่การพัฒนา และสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันที่ในขณะนี้มีความท้าทายด้วยมาตรการการทางการค้าและกติกาในรูปแบบต่าง ๆ ที่เข้มข้นขึ้นตามเทรนด์ของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่ปรับตัวก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ที่มา: krungthai, itln

รูปภาพ: freepik and unsplash

Share to everyone