EEC คึกคัก ดันคลังสินค้าอัจฉริยะไทย

 

EEC คึกคัก ธุรกิจฟื้น ดันคลังสินค้าอัจฉริยะไทย โต 10-15% รับเทรนด์ดิสรัปต์ซัพพลายเชน

 

จากข้อมูลของสมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย ระบุว่า ภาพรวมการลงทุนในอุตสาหกรรมคลังสินค้าอัจฉริยะ หรือ อินทราโลจิสติกส์ ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องตามสภาวะการลงทุนของประเทศไทย และการเพิ่มขึ้นของดีมานด์ในตลาด โดยคาดว่าในปีนี้จะขยายตัวราว 10-15% เทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท คาดเงินสะพัด 1,000-1,200 ล้านบาท

 

ส่วนในปี 2565 ที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 6,000-8,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2564 ประมาณ 5-8% ด้วยแรงหนุนจากเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว บวกกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความคืบหน้ามากขึ้น จึงมีการลงทุนทางด้านอินทราโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ระบบการจัดระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ หรือ อินทราโลจิสติกส์ มีบทบาทสำคัญในการขนส่งวัสดุภายในโรงงาน ศูนย์กระจายสินค้า บริการพัสดุ โกดังสินค้า โดยระบบเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ ความยั่งยืน ลดต้นทุน และการดำเนินงานต่างๆของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี

 

สราวุธ เล้าประเสริฐ  อุปนายกสมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย
สราวุธ เล้าประเสริฐ  อุปนายกสมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย

 

สราวุธ เล้าประเสริฐ  อุปนายกสมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้ภาคการผลิตต้องตื่นตัว ขยับขยาย และหันมาโฟกัสอินทราโลจิสติกส์มากขึ้นมาจากทั้งปัจจัยภายในประเทศ และต่างประเทศ เนื่องจากอินทราโลจิสติกส์ถือเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองของภาคอุตสาหกรรมไทยและทั่วโลก ฉะนั้นในระยะสั้นและระยะยาวก็จะมีผลในการทำให้ผู้ประกอบการต้องหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น อาทิ ภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัด ค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น สงครามยูเครน ความตึงเครียดในจีน และล่าสุดคือสงครามอิสราเอล รวมทั้งปัญหาซัพพลายเชนในอดีตที่ผ่านมา

 

ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องหาทางปรับตัวมากขึ้น เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในแง่ซัพพลายโลจิสติกส์ ทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยภายนอกที่ทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นความสำคัญในการลงทุนด้านอินทราโลจิสติกส์เพื่อให้กระบวนการซัพพลายเชนมีความคล่องตัวและสามารถแข่งขันในตลาดได้

 

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ ด้วยความที่อินทราโลจิสติกส์เป็นเซกเตอร์ที่มีแรงงานเกี่ยวข้องเยอะมาก และไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ฉะนั้นแรงงานในภาคส่วนนี้จะหายาก เนื่องจากต้องอาศัยสกิล ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องสร้างขึ้นมา และหาเทคโนโลยีมาช่วย จึงเป็นเหตุผลให้ต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม  นับเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี

 

เอกชน ลงทุนด้านอินทราโลจิสติกส์ราว 10-15% ของงบลงทุนทั้งหมด

 

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยธุรกิจ SMEs หรือกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าขนาดใหญ่ ดังนั้นเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีการเติบโตขึ้น “คลังสินค้า” จึงถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาที่จำเป็นในการยกระดับมาตรฐานธุรกิจให้เทียบเท่าระดับสากล ทั้งนี้ระบบอินทราโลจิสติกส์ไทย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งไทยเป็นคน Import โดยระบบอินทราโลจิสติกส์ไทยอยู่ในอันดับ 30-35 ของโลก ขณะที่อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ ตามมาด้วย อังกฤษ เยอรมัน ตามลำดับ ขณะเดียวกันในส่วนของงบการลงทุนของแต่ละธุรกิจในด้านอินทราโลจิสติกส์นั้นจะอยู่ราวๆ 10-15% ของงบการลงทุนทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10-20 ล้านบาทต่อโครงการโดยเฉลี่ย”  สราวุธ กล่าว

 

ทั้งนี้ทางด้านของรัฐบาลไทย ก็ได้มีมาตรการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ เพื่อยกระดับการจัดการคลังสินค้าไทยสู่มาตรฐานระดับสากล เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการไทย รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนในอนาคตด้วยเช่นกัน

 

ซึ่งในครั้งนี้ Euro Expo, Expolink Global Network, Messe Stuttgart รวมถึง สมาคมการจัดการระบบคลังสินค้าไทย (TIA) ได้เดินหน้าจัดงาน LogiMAT | Intelligence Warehouse 2023 ที่จะเป็นตัวกลางสำคัญในการเพิ่มพูนความรู้กับผู้ประกอบการไทย ในอุตสาหกรรมอินทราโลจิสติกส์ และจะสามารถสร้างเครือข่ายการค้าผ่านการเจรจาธุรกิจได้ด้วยเช่นกัน ผ่านการรวมตัวกันของบริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำจากหลายประเทศ เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ระหว่างประเทศในอนาคต อาทิ คลังสินค้าเสมือนจริง การสาธิตการทำงานของเทคโนโลยีรถยกระดับโลก รวมถึงกิจกรรมใหม่ที่เพิ่มเข้ามาเป็นปีแรก อย่างเทคโนโลยี Cold Chain

 

แหล่งข่าวจาก : thairath

ติดต่อสอบถาม : Easetrack

Share to everyone