Carbon Footprint คืออะไร ? จะก้าวสู่การเป็นธุรกิจในยุคสังคมคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืนต้องทำอย่างไร ?
ปัจจุบัน Carbon Footprint นับเป็นตัวชี้วัดสำคัญ สำหรับการดำเนินกิจกรรมหรือการกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์เกือบทุกขั้นตอน เพื่อที่จะควบคุมไม่ให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนนั่นเอง
Carbon Footprintบทความนี้ Easetrack จะชวนมาทำความเข้าใจว่า Carbon Footprint คืออะไร ? คำนวณอย่างไร และประโยชน์ของการทำ Carbon Footprint มีอะไรบ้าง พร้อมไขข้อสงสัยว่าทำไมธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
Carbon Footprint คืออะไร
Carbon Footprint คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การคมนาคมขนส่ง การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ หากพูดให้เห็นภาพง่าย ๆ การดำเนินชีวิตประจำวันของเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ การใช้ไฟฟ้า การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว หรือแม้กระทั่งของเสียที่เกิดจากอาหารในแต่ละวัน ล้วนแต่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น
โดยก๊าซเรือนกระจกที่นำมาพิจารณามีอยู่ 7 ตัวด้วยกัน คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซมีเทน, ก๊าซไนตรัสออกไซด์, กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน, ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์
ซึ่งก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดนี้เหล่านี้จะมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential : GWP) แตกต่างกัน โดยทางคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ได้กำหนดค่าการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของแต่ละก๊าซให้เทียบกับศักยภาพการเกิดภาวะโลกร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนเท่ากับ 1 ซึ่งจะมีหน่วยเป็น คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon dioxide equivalent : CO2e)
ประเภทของ Carbon Footprint มีอะไรบ้าง ?
Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product life cycle) กล่าวคือตั้งแต่เป็นวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน จนไปถึงการทำลายเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะเครื่องหมาย Carbon Footprint แสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่าตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่
-
- Carbon Footprint ของบริการ คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาในการให้บริการนั้นๆ (ผลิตภัณฑ์ + องค์กร)
- Carbon Footprint ขององค์กร คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กร
วิธีคำนวณ Carbon Footprint
การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1 กิโลกรัม = Carbon Footprint 1 กิโลกรัม และด้วยความที่ก๊าซเรือนกระจกมีหลายชนิด การคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาเราจะใช้หน่วย คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ในการคิด
อ้างอิงจากค่าศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของรายงานการประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของ IPCC ฉบับที่ 5 (IPCC Fifth Assessment Report 2014 : AR5) ซึ่งได้กำหนดให้ ก๊าซมีเทนมีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้นจาก 25 เท่า เป็น 28 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซไนตรัสออกไซด์มีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนอยู่ที่ 265 เท่าของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
เช่น หากเราปล่อยก๊าซมีเทน 1 กิโลกรัม จะหมายความว่าเราปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เท่ากับ 28 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) และหากเราปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ 1 กิโลกรัม ก็จะหมายความว่า เราปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เท่ากับ 265 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) นั่นเอง
ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยของ Carbon Footprint ต่อคนในอเมริกา คือ 16 ตัน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงที่สุดในโลก เพราะโดยปกติจะอยู่ที่ 4 ตัน เพื่อเป็นโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาของอุณหภูมิโลก จึงต้องมีการลดค่าเฉลี่ยของ Carbon Footprint ต่อปี ให้ลงมาอยู่ที่คนละ 2 ตัน ภายในปี 2050
จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นภาคธุรกิจที่กำลังมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ได้มีการจัดทำ Carbon Footprint ขององค์กร เพื่อเป็นการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้ทราบแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญขององค์กร ก่อนนำไปสู่การบริหารจัดการและวางแผนกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทำไมองค์กรต้องให้ความสำคัญกับ Carbon Footprint
เพราะจะทำให้องค์กรทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมต่างๆ และสามารถวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างตรงจุด พร้อมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายให้องค์กร จากการลดการใช้พลังงาน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
ทั้งยังสามารถต่อยอดและพัฒนาโครงการไปสู่อนาคต โดยการขยายผลการประเมินก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้การรับรองฉลากลดโลกร้อน
รวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับมาตรการ Non-Tariff Barriers (NTBs) หรือการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี เช่น ภาษีคาร์บอนและมาตรการต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อม การใช้ฉลากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะนำมาซึ่งความได้เปรียบทางการค้าขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ที่เป็นจุดแข็งทั้งในประเทศและนานาชาติ ที่ต่างเห็นว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องเร่งด่วน และสามารถตรวจวัดเป็นตัวเลขได้
ทำให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ที่อยู่ใน Supply Chain ที่ต้องการสินค้าหรือคู่ค้าที่มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน โดยทั้งหมดนี้สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ในระดับสากลทั่วโลก
ขณะเดียวกันยังสามารถจำหน่ายเป็นคาร์บอนเครดิต หรือทำการชดเชยคาร์บอนกับองค์กรอื่นๆ พร้อมกับนำข้อมูลเหล่านั้นไปประกอบการจัดทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัท เพื่อตอบคำถามนักลงทุน และท้ายที่สุดแล้วคือการแสดงความรับผิดชอบขององค์กร ตามหลักการ ESG ที่โปร่งใส เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ESG ขององค์กรนั่นเอง
ดังนั้นในหลายประเทศจึงเริ่มมีการนำ Carbon Footprint มาใช้กันแล้ว ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น จึงถือได้ว่าการลงทุนที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนนี้จะช่วยสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) สร้างการรับรู้และการสื่อสารที่ดีระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ
โดยมีแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน ไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว (Investment Style) ซึ่งถือเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance : ESG) อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านตัวเลขที่ออกมาในรูปแบบของ Carbon Footprint ทำให้เราสามารถประเมินสถานการณ์ ตรวจสอบ และติดตามประเมินผล เพื่อบริหารจัดการให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงได้อย่างแท้จริง
รวบรวมข้อมูลจาก: nature.org & carbonfootprint